สิ่งสำคัญที่ธุรกิจออนไลน์ต้องทราบ! ภาษีอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) คืออะไร
โลกของเราได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เราต้องขับรถออกไปซื้อของด้วยตนเอง ต้องเปิดหาเบอร์ติดต่อจากสมุด หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ และต้องสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์ บางครั้งกว่าจะได้สิ่งของที่เราต้องการ ต้องเสียเวลาในดำเนินการยาวนาน แต่ในขณะนี้เพียงไม่กี่นาทีเราสามารถสั่งซื้อสินค้าได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางฝ่ารถติดไปให้เหนื่อยอีกต่อไป
เพียงเราอยู่บ้าน เราก็สามารถสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่าย ๆ เรียกได้ว่าเสียเงินแบบไม่ต้องขยับตัวไปไหน เพียงแค่พร้อมจิ้ม และพร้อมโอนเท่านั้น ดังนั้นธุรกิจที่มีทั้งหน้าและมีช่องทางสั่งซื้อของทางออนไลน์จะได้เปรียบกว่าธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram และเว็บไซต์ สามารถสร้างกำลังและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
หากดูการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของคนไทย จะเห็นภาพได้ชัดเจนว่าโลกออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม โดยขณะนี้การสำรวจการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือปี 2561 (ไตรมาสที่ 1) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประชาชนชาวไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี 2561 มีมากถึง 36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56.8 ส่วนในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 52.9 และการใช้โทรศัพท์ก็เพิ่มจากร้อยละ 88.2 เป็นร้อยละ 89.6 ด้วยสถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ Digital Economy อย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นจึงทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวตามโลกออนไลน์ให้ทัน สำหรับธุรกิจที่กำลังหาช่องทางใหม่บนโลกออนไลน์ หรือที่เราเข้าใจกันว่าการทำธุรกิจในรูปแบบของ E-commerce คือการดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจรูปแบบนี้จะมุ่งไปที่การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
แต่ก่อนที่จะเริ่มใช้สื่ออย่างเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า ควรทราบก่อนว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce มีอะไรบ้าง
ภาษีเงินได้ : ภาษีที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยจะแบ่งออกเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ซึ่งต้องจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลก่อน)
- เงินได้บุคคลธรรมดา คิดจากเงินได้สุทธิ คือการนำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนมาคำนวณปกติ แต่รายได้ที่ได้จากการขายของออนไลน์ต้องนำมารวมด้วย ดังนั้นหากเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ เราจะเข้าข่ายอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 1รายได้จากเงินเดือน และประเภทที่ 8 เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การขนส่งและอื่น ๆ
- เงินได้นิติบุคคล จะต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคล โดยจะคำนวณจากกำไรสุทธิ ซึ่งการคำนวณกำไรสุทธิมีความซับซ้อน ดังนั้นจึงควรปรึกษาผู้ทำบัญชีจะดีกว่า เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องที่สุด
ภาษีมูลค่าเพิ่ม : หากธุรกิจ E-Commerce ของเรามีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งต้องรายงานภาษีซื้อและภาษีขายด้วย
ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม คือสิ่งที่คนทำธุรกิจ E-Commerce ต้องทำความเข้าใจ และรู้จักวางแผนภาษี เพราะเราไม่รู้ว่ากรมสรรพากรจะมาตรวจธุรกิจของเราเมื่อไร ดังนั้นการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด